ลักษณะการประกอบธุรกิจ

 

ภาพรวมการประกอบธุรกิจของ BEM

BEM มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งที่ครบวงจร  สร้างการเดินทางที่สะดวก  รวดเร็ว  เชื่อถือได้ และปลอดภัย    เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต  โดยธุรกิจของบริษัทประกอบไปด้วยการให้บริการทางพิเศษ และระบบขนส่งมวลชน ด้วยรถไฟฟ้ารวมถึงธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับธุรกิจหลัก มีภาพรวมการประกอบธุรกิจของบริษัทแบ่งออก   เป็น 3 ธุรกิจหลัก ดังนี้

ธุรกิจทางพิเศษ

BEM และบริษัทย่อย คือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (“NECL”) เป็นผู้รับสัมปทานในการก่อสร้าง และบริหารทางพิเศษ รวม 3 สายทาง ซึ่งได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช (ส่วนเอบี ส่วนซี และส่วนดี) ทางพิเศษประจิมรัถยา และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ทางพิเศษศรีรัช (ส่วนเอบี ส่วนซี และส่วนดี)

ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ภายใต้สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (“กทพ”) โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 สำหรับทางพิเศษศรีรัชส่วนดีอาจขยายออกไปอีก 11 ปี 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาเดิม คือ วันที่ 22 เมษายน 2570 ทางพิเศษศรีรัชเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โครงการแรกในประเทศไทยที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยลักษณะโครงการเป็น BTO (Build Transfer Operate)
คือ บริษัท (เดิมคือ BECL) เป็นผู้ลงทุนในการออกแบบก่อสร้างและบริหารทางพิเศษศรีรัช ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างถาวรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์ในทางพิเศษศรีรัชจะตกเป็นของ กทพ. ประกอบด้วยทางพิเศษ 3 ส่วน มีระยะทางรวม 38.5 กิโลเมตร คือ 
  • ส่วนเอบี (จากถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าทิศใต้ผ่านต่างระดับพญาไท ไปทางทิศตะวันออกถึงถนนพระราม 9 และจากต่างระดับพญาไทไปทางทิศใต้ถึงต่างระดับบางโคล่) 
  • ส่วนซี (จากถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือถึงถนนแจ้งวัฒนะ)
  • ส่วนดี (จากถนนพระราม 9 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกถึงถนนศรีนครินทร์)
ในส่วนของค่าผ่านทาง กทพ. มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษศรีรัช บริษัทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอบี และได้รับรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดของส่วนซี และส่วนดี โดยการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ คือ รายได้ค่าผ่านทางจากทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ส่วนเอบี บริษัทได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 40 กทพ.ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 ส่วนรายได้ค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช ส่วนซี และส่วนดี รายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดเป็นของบริษัท

2. ทางพิเศษประจิมรัถยา

ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ภายใต้สัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร กับ กทพ. โดยระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 14 ธันวาคม 2585 

บริษัทมีหน้าที่ในการออกแบบและก่อสร้าง จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่  ในการบริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษาทางพิเศษรวมทั้งการเรียกเก็บค่าผ่านทาง เพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิในรายได้ค่าผ่านทางและรายได้อื่นๆ (ถ้ามี) ลักษณะของโครงการเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจำนวน 9 ด่าน มีแนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฯ (ถนนกาญจนาภิเษกบริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ไปทางทิศตะวันออกตามแนวทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีกลางบางซื่อ (จตุจักร) โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดใช้ทางเชื่อมต่อทางทางพิเศษประจิมรัถยา ไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางไปแจ้งวัฒนะ และต่อเนื่องไปทางพิเศษอุดรรัถยา ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้รับภาระในการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด และแบ่งผลตอบแทนหรือให้ประโยชน์แก่ กทพ. ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

ในการบริหารจัดการโครงการนี้ บริษัทเป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทาง และมีสิทธิที่จะได้รับรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด และรายได้อื่น (ถ้ามี) ตลอดระยะเวลาสัมปทาน ซึ่งอัตราค่าผ่านทางและการปรับอัตราค่าผ่านทางเป็นไปตามที่ตกลงในสัญญา 

3. ทางพิเศษอุดรรัถยา

ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ดำเนินการโดย NECL ภายใต้สัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) กับ กทพ. โดยระยะเวลาสัมปทานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2578  โดยอาจขยายสัญญาออกไปอีก 10 ปี 11 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาเดิม คือ วันที่ 27 กันยายน 2569 

ทางพิเศษอุดรรัถยา มีลักษณะโครงการเป็น BTO (Build Transfer Operate) เช่นเดียวกับทางพิเศษศรีรัช คือ NECL จะเป็นผู้ลงทุนในการออกแบบก่อสร้างและบริหารทางพิเศษอุดรรัถยา โดยกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างถาวรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์ในทางพิเศษจะตกเป็นของ กทพ. และ กทพ. เป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมดแล้วส่งมอบรายได้ค่าผ่านทางให้ NECL ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งทางพิเศษอุดรรัถยาประกอบด้วยทางพิเศษ 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แจ้งวัฒนะ-เชียงราก และระยะที่ 2 เชียงราก-บางไทร เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ที่บริเวณถนนแจ้งวัฒนะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 32 กิโลเมตร สำหรับขาเข้าเมืองผู้ใช้ทางชำระค่าผ่านทางที่ด่านเก็บเงิน ณ จุดขึ้นทางพิเศษ สำหรับขาออกจากเมืองชำระค่าผ่านทางที่จุดลงทางพิเศษ โดย กทพ.เป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมดแล้วส่งมอบให้ NECL รายได้ค่าผ่านทางในส่วนของทางพิเศษอุดรรัถยาเป็นของ NECL ทั้งหมด
 

รายละเอียดของโครงข่ายที่เชื่อมโยงระบบทางพิเศษส่วนต่างๆ ดังนี้

 

ระบบทางพิเศษ
 

ระยะทาง (ก.ม.)
 

ก่อสร้างและบริหารงานโดย
 

1.  ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
    (บางนา-ดินแดง-ดาวคะนอง)

27.1

กทพ.

2.  ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)  
    2.1 ส่วนในเมือง (ส่วนเอบี)
         
(ประชาชื่น-พญาไท-บางโคล่-อโศก)
    2.2 ส่วนนอกเมือง (ส่วนซี) (ประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ)
    2.3 ส่วนนอกเมือง (ส่วนดี) (พระราม 9-ศรีนครินทร์)

38.5

บริษัท 

3.  ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด)

32.0

NECL 

4.  ทางพิเศษประจิมรัถยา

16.7

บริษัท

5.  ทางพิเศษอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์)

28.0

บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง

6. ทางพิเศษฉลองรัชรวมส่วนต่อขยาย (รามอินทรา-อาจณรงค์
   และรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร)

32.9

กทพ.

7.  ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี)

55

กทพ.

8. ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางหลวงหมายเลข 37
   (ช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน) รวมทางเชื่อมต่อสะพานภูมิพล 1 และ 2

37.8

กทพ.

รวมระยะทางทั้งสิ้น 268.0   


ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง

ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางสำหรับทางพิเศษส่วนในเมือง (เฉลิมมหานคร และศรีรัชส่วนเอบี) บริษัทได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางในอัตราร้อยละ 40 และ กทพ.ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 60 สำหรับทางพิเศษส่วนนอกเมือง (ศรีรัชส่วนซี และส่วนดี) ทางพิเศษประจิมรัถยา และทางพิเศษอุดรรัถยา บริษัทได้รับรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
 

ระบบทางพิเศษ
 
ระยะทาง (ก.ม.) รายได้ การแบ่งรายได้
บริษัท : กทพ.
ทางพิเศษเฉลิมมหานคร
   ดินแดง-ท่าเรือ
   บางนา-ท่าเรือ
   ท่าเรือ-ดาวคะนอง

 

8.9
7.9
  10.3    

 


บริษัท และ กทพ.
    

 


40 : 60
    

ทางพิเศษศรีรัช 
   ส่วนเอบี 
     (พระราม 9-รัชดาภิเษก)
     (พญาไท-บางโคล่)


 

21.8

 


บริษัท และ กทพ.

 


40 : 60

   ส่วนซี  (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ)     8.0 บริษัท

100 : 0

   ส่วนดี  (พระราม 9-ศรีนครินทร์) 8.7 บริษัท

100 : 0

ทางพิเศษประจิมรัถยา 16.7 บริษัท 100 : 0
ทางพิเศษอุดรรัถยา
   แจ้งวัฒนะ-เชียงราก
   เชียงราก-บางไทร


22.0
10.0

 

NECL

 

100 : 0

หมายเหตุ สัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) สิ้นสุดปี 2578 และสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชวง-แหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร สิ้นสุดปี 2585
 

อัตราค่าผ่านทาง

ทางพิเศษ / ด่านเก็บค่าผ่านทาง
อัตราค่าผ่านทาง (บาท/เที่ยว)
 
4 ล้อ 6-10 ล้อ มากกว่า 10 ล้อ
ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 50 75 110
ยกเว้น            
ด่านอาจณรงค์ 1 (ไปบางนา)
   
   25 (1)
   
   50 (1)
 
   85 (1)
 
ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) (ส่วนเอบี) 50 75 110
        
ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) (ส่วนซี) 15 20 35
ยกเว้น      
ด่านประชาชื่น (ขาเข้า)    60 (2)    90 (2)    140 (2)
ด่านประชาชื่น (ขาออก)    10 (2)    15 (2)    30 (2)
 
ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) (ส่วนดี) 25 55 75
 
ทางพิเศษประจิมรัถยา 65 105 150
 
ทางพิเศษอุดรรัถยา 45 100 150
ยกเว้น      
ด่านบางปะอิน 55 120 180
หมายเหตุ  :     (1)    อัตรานี้หลังหักส่วนลดพิเศษ 25 บาท สำหรับรถทุกประเภท (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566)
                 (2)    กรณีที่ผู้ใช้ทางใช้บริการทางด่วนขั้นที่ 2 ต่อเนื่องจากส่วนเอบี ไปส่วนซี ที่ด่านประชาชื่น (ขาออก) หรือจากส่วนซี ไปส่วนเอบี ที่ด่านประชาชื่น (ขาเข้า) ค่าผ่านทางของส่วนที่สองที่ใช้บริการสำหรับรถทุกประเภทจะได้รับส่วนลด 5 บาท ตลอดระยะเวลาของสัญญา
                 
 

การปรับอัตราค่าผ่านทางตามสัญญา

  • ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช มีการปรับทุก 10 ปี โดยจะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งต่อไปในวันที่ 1 กันยายน 2571  
  • ทางพิเศษประจิมรัถยา มีการปรับทุก 5 ปี นับแต่วันที่เปิดดำเนินการโครงการในอัตรา 15 บาท 25 บาท และ 35 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา โดยมีการปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และ
  • ทางพิเศษอุดรรัถยา มีการปรับทุกวันที่ 1 พฤศจิกายน สำหรับทุกระยะเวลา 10 ปี โดยจะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งต่อไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2571
 

ธุรกิจระบบราง

บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจำนวน 2 โครงการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (“รฟม.”) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (“โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน”) บริษัทได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับ รฟม. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี นับจากวันที่ รฟม. แจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) บริษัทมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์งานระบบดำเนินการให้บริการเพื่อให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) และบริษัทเป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการโฆษณา การให้เช่าพื้นที่ในโครงการ และธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้าตลอดระยะเวลาสัมปทาน เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการครบทั้งสายทาง ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกอบด้วย ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ (สายสีน้ำเงินเดิม) 
และช่วงหัวลำโพง-บางแค ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย) ดังนี้
  • ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ (สายสีน้ำเงินเดิม) โครงการรถไฟฟ้าที่เป็นทางวิ่งใต้ดินสายแรกของประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี เปิดให้บริการเดินรถเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 บริษัทเป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการโฆษณา การให้เช่าพื้นที่ในโครงการ และธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้า
  • ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย) เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบผสมทั้งใต้ดินและยกระดับ โดยมีสถานีรวมทั้งสิ้นจำนวน 20 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 4 สถานี และเป็นสถานียกระดับ 16 สถานี มีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินเดิม) ที่สถานีหัวลำโพง และสถานีบางซื่อ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน บริษัทเป็นผู้ลงทุน จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินรถไฟฟ้า รวมถึงการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา โดยให้การเดินรถแบบต่อเนื่องกัน (Through Operation) ทั้งนี้ ได้แบ่งการดำเนินงานช่วงการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบ เพื่อเปิดให้บริการออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 
    • ช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูน ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 
    • ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง-สถานีหลักสอง ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 
    • ช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ทำให้การเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม และเชื่อมต่อหลัก (Interchange Station) ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางจากสถานีท่าพระ เพื่อโดยสารออกนอกเมืองไปทางฝั่งตะวันตกผ่านสถานีบางไผ่ไปยังสถานีหลักสอง หรือเพื่อโดยสารเข้าในเมืองชั้นในผ่านสถานีอิสรภาพไปยังสถานีหัวลำโพง รวมถึงยังสามารถเดินทางไปสถานีเตาปูน เพื่อเชื่อมต่อไปยังโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) 
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ได้เปิดให้บริการครบทั้งสายทางแล้ว เป็นระยะทางรวม 48 ก.ม. จำนวน 38 สถานี มีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการทั้งหมดจำนวน 54 ขบวน โดยมีระยะเวลาให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุดตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.

2. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (“โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง”) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) มีระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี เป็นสถานีแบบยกระดับทั้งหมด มีสถานีเตาปูน เป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางจากสายสีม่วงไปยังสายสีน้ำเงินได้ที่สถานีเตาปูน และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 
บริษัทได้รับสัมปทานการลงทุน การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา ลักษณะสัญญาเป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost ซึ่ง รฟม. เป็นผู้ลงทุนค่างานโยธาทั้งหมด และบริษัทเป็นผู้ลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาตามมาตรฐานการให้บริการที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญา โดย รฟม. เป็นผู้มีสิทธิในรายได้ค่าโดยสาร และรายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางโยธาและระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และ รฟม. จะทยอยจ่ายคืนค่าอุปกรณ์งานระบบให้บริษัทเป็นรายเดือนในระยะเวลา 10 ปี และจ้างบริษัทบริหารการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี นับจากวันที่ 4 กันยายน 2556 ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่วิ่งบริการ จำนวน 21 ขบวน มีระยะเวลาให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.30-24.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.

ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์

บริษัทได้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางพิเศษ โดยได้ให้บริษัทเอกชนและบุคคลใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการในเชิงพาณิชย์ในเขตพื้นที่ระบบทางพิเศษ เพื่อติดตั้งป้ายรายงานสภาพจราจรและป้ายโฆษณาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งให้ใช้พื้นที่ทำร้านค้าบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เช่น ใช้พื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อติดตั้งระบบกระจายสัญญาณ 3G เป็นต้น และในส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ และได้แต่งตั้งให้บริษัทย่อยคือ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (“BMN”) เป็นผู้แทนบริหารการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว
เราใช้คุ้กกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bemplc.co.th ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุ้กกี้ตามที่ระบุใน นโยบายคุ้กกี้