คณะกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 
ศ.(พิเศษ) อรรถพล ใหญ่สว่าง
ศ.(พิเศษ) อรรถพล ใหญ่สว่าง

ประธานกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางวัลลภา อัสสกุล
นางวัลลภา อัสสกุล

กรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล

กรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์

กรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รายงานคณะกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (“คณะกรรมการบรรษัทภิบาลฯ”) โดยการแต่งตั้งของคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน โดยมี ศ.(พิเศษ) อรรถพล  ใหญ่สว่าง ซึ่งเป็นกรรมการอิสระเป็นประธานกรรมการบรรษัทภิบาลฯ นางวัลลภา  อัสสกุล นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล และ ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ เป็นกรรมการบรรษัทภิบาลฯ เพื่อทำหน้าที่ดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้ง พิจารณาแผนบริหารความเสี่ยง กระบวนการและกลยุทธ์ที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง เพื่อจัดการความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรในภาพรวมเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองเพื่อให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน   

ในปี 2566 มีการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูง จำนวน 4 ครั้ง เพื่อกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานตามแผนงาน สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. ด้านการกำกับดูแล  
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลฯ ได้ติดตามและทบทวนหลักเกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน และพิจารณากรอบการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน และได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกำหนดนโยบายเพิ่มเติม เพื่อยกระดับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงประเด็นความยั่งยืนและเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การยอมรับและแข่งขันในระดับสากล ดังนี้

  • ทบทวนปรับปรุงนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการ และนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย นโยบายความปลอดภัยและสุขอนามัย นโยบายส่งเสริมนวัตกรรม นโยบายคุณภาพ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการบริหารความเสี่ยง นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน จรรยาบรรณบริษัท รวมถึงกฎบัตรคณะกรรมการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลกิจการ  
  • กำหนดนโยบายเพิ่มเติม ประกอบด้วย นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพและการไม่ตัดไม้ทำลายป่า นโยบายความหลากหลายของคณะกรรมการ และนโยบายการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
  • กำหนดจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติของบริษัทในการดำเนินธุรกิจของบริษัทกับคู่ค้า ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทเกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน

  
2. ด้านการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลฯ ได้พิจารณาทบทวนและติดตามการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทบทวนนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้สอดคล้องครอบคลุมกับแนวปฏิบัติความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG Risk) พร้อมการกำหนดมาตรการเพื่อบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ทั้งความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) เพื่อกำหนดในแผนการบริหารความเสี่ยง
  • ติดตามและรายงานคณะกรรมการบริษัททราบผลการดำเนินการตามแผนบริหารความเสี่ยงประจำปี 2566 ซึ่งบริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่พบสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท 
  • เห็นชอบกับแผนบริหารความเสี่ยงประจำปี 2567 ซึ่งมีความเพียงพอ และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจในปัจจุบัน รวมทั้งมีแผนการดำเนินการและวิธีการเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยได้ทำการประเมินระดับของผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และโอกาสของการเกิดความเสี่ยงตามสถานการณ์ปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และกำหนดมาตรการในการจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมยอมรับได้

3. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลฯ ได้ติดตาม และพิจารณาการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท เพื่อให้มีการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ดังนี้
  • การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ภายใต้กรอบความยั่งยืน เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SD Goals and Targets)
  • การปรับปรุงกรอบการจัดหาเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing Framework) ให้สอดคล้องกับ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการจำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลักดันการระดมทุนเงินทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และได้มีการปรับคณะทำงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Working Group) ให้สอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
 

ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังคงได้รับผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทอยู่ในระดับดีเลิศ (ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4)ผลการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมสมควรเป็นตัวอย่าง (ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4) ได้รับผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ประจำปี 2566 ในระดับ AA โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ในกลุ่มบริการ (Services) (ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 โดยได้รับประกาศนียบัตร ESG100 Company ประจำปี 2566 ได้รางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization : CALO) นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับรางวัล Thailand's Top Corporate Brand 2023 บริษัทที่มีแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกรอบการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนของบริษัท

   
  

 
ในนามคณะกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  - ลายมือชื่อ -

( ศ. (พิเศษ) อรรถพล   ใหญ่สว่าง )

ประธานกรรมการบรรษัทภิบาล บริหารความเสี่ยง
และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 
เราใช้คุ้กกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bemplc.co.th ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุ้กกี้ตามที่ระบุใน นโยบายคุ้กกี้