จัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม
BEM มุ่งสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
1. บุคลากรในฝ่ายจัดซื้อทุกคน ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของตลาดหลักทรัพย์ (SET E-learning) อย่างน้อย ดังนี้
- หลักสูตร P01 E-Learning : พื้นฐานด้านความยั่งยืนของธุรกิจ (PRELIMINARY TO CORPORATE SUSTAINABILITY)
- หลักสูตร ESG 101: (Understanding overview of ESG)
- หลักสูตร การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (SUSTAINABLE SUPPLY CHAIN MANAGEMENT)
2. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร และสร้างช่องทางการสืบค้นข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product List / Green Hotel) แบบ On line เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กร มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. เก็บรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประจำปี เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการคุณภาพ และฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัท กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ไว้ดังนี้
- ใช้วัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น วัสดุไม่มีพิษ วัสดุหมุนเวียนทดแทนได้ วัสดุรีไซเคิล และวัสดุที่ใช้พลังงานต่ำในการจัดหามา เป็นต้น
- ใช้วัสดุน้อย เช่น น้ำหนักเบา ขนาดเล็ก มีจำนวนประเภทของวัสดุน้อย เป็นต้น
- มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ใช้พลังงานสะอาด ลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตและลดขั้นตอนของกระบวนการผลิต เป็นต้น
- มีระบบขนส่งและจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ลดการใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือย ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่ใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ และเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่ประหยัดพลังงานที่สุด เป็นต้น
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดในช่วงการใช้งาน เช่น ใช้พลังงานต่ำ มีการปล่อยมลพิษต่ำในระหว่างการใช้งาน ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง และลดการใช้ชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น
- มีความคุ้มค่าตลอดชีวิตการใช้งาน เช่น ทนทาน ซ่อมแซมและดูแลรักษาง่าย ปรับปรุงต่อเติมได้ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย เป็นต้น
- มีระบบการจัดการระบบหลังหมดอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การเก็บรวบรวมที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มีการออกแบบให้สามารถนำสินค้าหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ซ้ำ หรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ง่าย หรือหากต้องกำจัดทิ้งสามารถนำพลังงานกลับคืนมาใช้ได้และมีความปลอดภัยสำหรับการฝังกลบ เป็นต้น
- สินค้าหรือบริการที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม หรือฉลากเขียว
- สินค้าหรือบริการที่มาจากองค์กรที่ได้รับการรับรองคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากสถาบันหรือหน่วยงานของรัฐในประเทศไทย หรือต่างประเทศ
- สินค้าหรือบริการที่มีในทะเบียน Green Product ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ
- จัดหาจากผู้ขาย/ผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ได้รับ ISO 14001 หรือมาตรฐานการรักษาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่แสดงหลักฐานได้ เป็นต้น หรือเป็นผู้ให้การสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งสามารถแสดงหลักฐานได้ เช่น นำเงินรายได้มอบให้องค์การกุศลที่รักษาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการปลูกป่า สนับสนุนการ Reuse–Refill–Recycle ซึ่งสามารถแสดงหลักฐานได้ เป็นต้น